สุริยุปราคาเต็มดวง 24 ตุลาคม 2538 ในความทรงจำ
ศรัณย์ โปษยะจินดา
24 ตุลาคม 2538 - ความรู้สึกในวัยเด็กของผู้เขียนช่วงประมาณปี 2518-2519 ช่างรู้สึกว่ามันเป็นวันที่ช่างแสนห่างไกลไปในอนาคต ผู้เขียนเพิ่งเริ่มหัดดูดาว และได้อาศัยข้อมูลซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคนั้น จากการไปท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ หนึ่งในไม่กี่แหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย เด็กทุกคนเคยเรียนเรื่องราวการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา-สุริยุปราคา แต่เราก็รู้เพียงแค่ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดจากการที่โลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ มีการแสดงภาพถ่ายของวัตถุท้องฟ้าที่น่าตื่นตาตื่นใจในขณะนั้น ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายสุริยุปราคาเต็มดวงจากต่างประเทศ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และบนบอร์ดหนึ่งซึ่งผู้เขียนจำได้ มีข้อความว่า สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในวันที่ 24 ตุลาคม 2538
วันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงอันสุดแสนมหัศจรรย์ครั้งนั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็น ผ่านไปเกือบ 25 ปีเต็มแล้ว ในระยะเวลาเกือบ 25 ปีนั้น สุริยุปราคาเต็มดวงได้พาผู้เขียนไปยังดินแดนที่ห่างไกลใน 6 ทวีปบนโลกใบนี้อีกรวม 12 ครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ยืนอยู่ใต้เงามืดของดวงจันทร์ที่ทอดลงมาสัมผัสพื้นโลก รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้นมากกว่าครึ่งชั่วโมง ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกัน ทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้คนรอบตัวเราที่เฝ้ารอ รวมถึงรูปร่างของโคโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ ไม่เหมือนกันแม้แต่ครั้งเดียว
การเตรียมตัวและเตรียมใจ
ผู้เขียนเตรียมการสังเกตการณ์เป็นเวลามากกว่า 1 ปี อย่างรอบคอบ สั่งซื้อหนังสือตำราต่าง ๆ เกี่ยวกับสุริยุปราคาจากต่างประเทศมาอ่านให้เกิดความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการถ่ายภาพซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากคราสเต็มดวงจะเกิดนานแค่ 1 นาที 52 วินาที จำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเลือกอุปกรณ์ ทางยาวโฟกัสของกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ ชนิดของฟิล์ม รวมถึงจะต้องทราบความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมในการบันทึกภาพปรากฏการณ์ย่อยต่าง ๆ เช่น ลูกปัดของเบลีย์ (Bailey’s Beads) ปรากฏการณ์แหวนเพชร (Diamond Ring) โคโรนาด้านในและด้านนอกของดวงอาทิตย์ การจะบันทึกสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเสี้ยววินาที จำเป็นต้องมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี และจากประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากหนังสือต่าง ๆ ผู้เขียนทราบดีว่า ความรู้สึก ความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นขณะที่คราสกำลังค่อยๆดำเนินไป อาจทำให้เราหลงลืมเทคนิคต่าง ๆ ที่ต้องใช้ หากเตรียมการมาไม่ดีพอ
กล้องโทรทรรศน์ใหญ่ที่สุดที่ผู้เขียนมีในขณะนั้นได้แก่กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว ทางยาวโฟกัส 2000 มม. ซึ่งผู้เขียนใช้มาตั้งแต่ปี 2535 เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ลดความยาวโฟกัส จะทำให้ทางยาวโฟกัสลดลงเหลือ 1280 มม. ที่อัตราส่วนทางยาวโฟกัส 6.3 ผู้เขียนเลือกใช้กล้องถ่ายภาพนิคอน F3 ที่ใช้มานานกว่า 10 ปีและติดตั้งมอเตอร์ไดรฟ์ขึ้นฟิล์มอัตโนมัติ ในยุคของฟิล์ม 135 เรามีโอกาสถ่ายภาพโดยไม่เปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่เพียงแค่ 36-38 ภาพเท่านั้น การถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวง ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิล์มที่ไวแสงมาก เนื่องจากมีความสว่างพอสมควร จึงเลือกใช้ฟิล์มโกดัก ISO100 ผู้เขียนฝึกซ้อมการถ่ายภาพ เริ่มตั้งแต่ใส่ฟิลม์ม้วนใหม่ก่อนคราสเต็มดวง 2 นาที จากนั้นถอดฟิลเตอร์กลองแสงออกจากหน้ากล้องก่อนเกิดคราสเต็มดวงครึ่งนาที การกดสายลั่นชัตเตอร์ในยุคนั้น ต้องทำไปพร้อมๆกับการหมุนปุ่มเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์เหมาะสมในการจับภาพลูกปัดของเบลีย์ และปรากฏการณ์แหวนเพชร ที่เกิดในช่วงเสี้ยววินาทีก่อนคราสเต็มดวง จากนั้นต้องเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ เพื่อบันทึกภาพโคโรนา ผู้เขียนซ้อมขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้แทบทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนก่อนถึงวันสำคัญ
แนวคราสเต็มดวงซึ่งก็คือเงามืดของดวงจันทร์นั้น เดินทางบนพื้นโลกจากทิศตะวันตกไปทางตะวันออกเสมอด้วยความเร็วหลายเท่าของความเร็วเสียง ในวันที่ 24 ตุลาคม 2538 เงามืดสัมผัสแผ่นดินไทยจุดแรกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นพาดผ่านกำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศกัมพูชา หลายเดือนก่อนหน้านั้น ผู้เขียนคิดว่า อ.เมือง นครสวรรค์ น่าจะมีความเหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้แนวกึ่งกลางคราส และเนื่องจากขณะเกิดปรากฏการณ์ สัมผัสแรก (First Contact) จะเกิดขึ้นในเวลา 9 นาฬิกาเศษ และก่อน 11 นาฬิกา (ขึ้นอยู่กับสถานที่) จะเกิดคราสเต็มดวง จนถึงสัมผัสที่สี่ (Fourth Contact) สิ้นสุดปรากฏการณ์ ในเวลาประมาณ 12 นาฬิกา 30 นาที ซึ่งมุมเงยของดวงอาทิตย์ จะอยู่ที่ 40-60 องศา
อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนในปีนั้น เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด ซึ่งรวมถึงจังหวัดนครสวรรค์ด้วย ผู้เขียนจึงคิดว่า สถานที่สังเกตการณ์ที่เหมาะสม น่าจะเป็นที่ใดที่หนึ่งในเขตจังหวัดนครราชสีมามากกว่า เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านเกือบจะเป็นแนวตั้งฉากกับแนวคราสเต็มดวง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 80 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.ปากช่อง จนถึงส่วนใต้ของตัว อ.เมือง โดยเส้นกึ่งกลางคราส (Central Line) ที่ตัดกับถนนมิตรภาพ อยู่ใกล้เคียงกับแยกต่างระดับสีคิ้ว
ผู้เขียนเริ่มออกสำรวจสถานที่สังเกตการณ์ประมาณ 2 เดือนก่อนหน้าวันสำคัญในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หลายครั้งด้วยกัน จนในที่สุดได้ลองขับรถขึ้นไปบนภูเขาเตี้ยๆ ไม่ไกลจากแยกต่างระดับสีคิ้วในบริเวณวัดมอจะบก (วัดเขาเหิบ) มีความสูงจากที่ราบรายรอบประมาณ 50-60 เมตร ที่วัดเขาเหิบมีลานหินทรายไม่ลาดชันมากนักเต็มไปด้วยหลุม (Pothole) นับร้อยหลุม ขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโคราชจีโอพาร์ค) หลุมเหล่านี้ก็คือกุมภลักษณ์ที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยก้อนหินขนาดเล็กเมื่อครั้งที่บริเวณนี้ยังอยู่ใต้แม่น้ำหรือลำธาร ลักษณะคล้ายหลุมที่สามพันโบก ด้านหน้าของลานนี้ มองเห็นอ่างเก็บน้ำซับประดู่ มองเห็นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างชัดเจน สามารถสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์เริ่มขึ้นจากขอบฟ้า และยังอยู่ห่างจากแนวกึ่งกลางคราสไม่ถึง 800 เมตร ผู้เขียนจึงขออนุญาตเจ้าอาวาส ว่าจะมาตั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 24 ตุลาคม
ภาพลานกุมภลักษณ์วัดเขาเหิบ มาจาก
Khoratfossil.org/museum/download/khoratgeopark.pdf
วันสำคัญ
ก่อนเกิดปรากฏการณ์ สื่อมวลชนทำการประชาสัมพันธ์มากมาย คนไทยมีความตื่นตัวและเฝ้ารอปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนคาดว่ามีคนไทยนับล้านคนได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ด้วยตัวเอง ที่พักในบริเวณใกล้เคียงกับแนวคราสเต็มดวงถูกจองล่วงหน้าแม้ว่าสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในวันอังคาร และไม่มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการแต่อย่างใด ทั้งที่ในวันจันทร์นั้นเป็นวันปิยะมหาราช ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้จาก NASA Solar Eclipse Bulletin (NASA RP 1344) ซึ่งจัดทำโดย Fred Espenak และ Jay Anderson มีรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ รวมถึงสภาพอากาศเฉลี่ยจากข้อมูลย้อนหลังหลายสิบปี ซึ่งแสดงให้ทราบว่าตามแนวคราสเต็มดวงที่ผ่านประเทศไทย มีโอกาสที่จะมีเมฆปกคลุมประมาณร้อยละ 60 ทำให้นักดาราศาสตร์จำนวนมาก เลือกที่จะไปสังเกตการณ์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของเมฆที่ปกคลุมต่ำกว่าไทยมาก แม้ว่าเวลาที่เกิดคราสเต็มดวงจะสั้นกว่าไทยพอสมควรก็ตาม (ในอินเดียคราสเต็มดวงนานสุดประมาณ 1 นาที เทียบกับในไทย 1 นาที 53 วินาที)
ประมาณ 4-5 วันก่อนหน้าวันสำคัญ หลังจากเฝ้ารอติดตามการรายงานอากาศจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จากอินเตอร์เน็ตและจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้เราทราบดีว่าประเทศไทยจะมีโอกาสดีมากเนื่องจากมีความกดอากาศสูงกำลังแรงแผ่ลงมา ทำให้อากาศเย็นและแห้ง แทบจะปราศจากเมฆรบกวนตลอดแนวคราสเต็มดวง
ในคืนก่อนหน้าปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ผู้เขียนและครอบครัวได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร โดยได้นัดหมายกับเพื่อนร่วมงานจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติประมาณ 20 คน โดยมีจุดนัดพบที่ปั๊มน้ำมันบางจาก เลยอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปไม่ไกลนักในเวลาประมาณ 3 นาฬิกา จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดเขาเหิบเพื่อติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ 2 กล้อง ได้แก่กล้อง Meade 8” SCT ที่ใช้ถ่ายภาพนิ่ง มีกล้องวิดีโอ Panasonic VHS-C ติดอยู่บนกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ด้วย กล้องโทรทรรศน์อีกกล้องได้แก่กล้องโทรทรรศน์ Pentax ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 มม. ที่ใช้ติดตามปรากฏการณ์คราสบางส่วนด้วยการฉายภาพผ่านเลนส์ตาลงบนฉากรับสีขาว การติดตั้งกล้องเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ซึ่งผู้เขียนได้ทดลองใช้กล้องติดตามดาวสว่างต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ในยุคของวินโดวส์ 3.1 มีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการช่วยสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่มากนัก ผู้เขียนใช้ The Sky (Software Bisque) ในการจำลองการเกิดคราสครั้งนี้บนคอมพิวเตอร์ที่ตั้งไว้ข้างกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงตั้งนาฬิกาเตือน (Timer) การเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ของปรากฏการณ์ไว้ด้วย ซึ่งในยุคก่อนที่จะมี GPS ใช้อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนต้องนำค่าขอบเขตของแนวคราสเต็มดวงที่ได้จาก NASA Bulletin มาพล็อตลงในแผนที่ของกรมทางหลวง ซึ่งทำให้ทราบค่าพิกัดของจุดสังเกตการณ์ได้ละเอียดในระดับหนึ่ง
ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น อากาศในเช้าวันนั้นถือว่าเย็นทีเดียว อุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียส จากนั้นค่อยๆอุ่นขึ้นทีละน้อยเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า ก่อนถึงสัมผัสแรก (เริ่มต้นสุริยุปราคาบางส่วน) ผู้เขียนทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานได้ดี ระหว่างนั้นเริ่มมีผู้คนนับร้อยเข้ามาร่วมชมปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ในบริเวณลานกุมภลักษณ์ เมื่อเริ่มเกิดปรากฏการณ์ ยังสังเกตขอบดวงจันทร์ที่สัมผัสขอบดวงอาทิตย์ได้ยากเสมอ เมื่อคราสบางส่วนดำเนินไปเรื่อยๆ เริ่มเกิดปรากฏการณ์เงาเสี้ยวทะลุใบไม้ในบริเวณใกล้เคียงทั่วไปหมด ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ไปมากกว่าครึ่ง ท้องฟ้าจะเริ่มมีสีฟ้าเข้มขึ้นจาการเกิดโพลาไรเซชั่นของแสงอาทิตย์ แม้ว่าความสว่างของแสงจะลดลงไป แต่ความรู้สึกแตกต่างจากวันที่มีเมฆบดบัง ความรู้สึกขณะนั้นบรรยายได้ยาก ผู้เขียนเคยอ่านวารสาร Sky and Telescope และ Astronomy บางบทความกล่าวไว้ว่าในช่วงเกิดคราสบางส่วน เราจะเกิดรู้สึกว่าภาพที่เรารอบๆ ตัวเรามันแปลกแบบชวนขนลุก (Eerie) เมื่อเรากำลังเข้าไปอยู่ในเงามัว (Penumbra) ของดวงจันทร์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งกำเนิดแสง (ดวงอาทิตย์) เปลี่ยนรูปร่างจากวงกลมกลายเป็นเสี้ยว นอกจากนี้หากสังเกตดีๆ เงาของตัวเราบนพื้น ซึ่งเดิมมีขอบเงาที่เบลอๆ ก็เริ่มคมชัดขึ้นด้วย
ก่อนคราสเต็มดวงประมาณ 2 นาที ผู้เขียนได้ใส่ฟิล์มม้วนใหม่เตรียมพร้อมไว้ และตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อรอถ่ายแหวนเพชรในท้องฟ้า ในช่วงนั้นอากาศเริ่มเย็นลงอย่างรู้สึกได้ชัดเจน ลมสุริยุปราคา (Eclipse Breeze) ซึ่งเกิดจากการที่เราอยู่ในเงาของดวงจันทร์ ทำให้มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณที่ไกลออกไป เริ่มพัดแรงขึ้น จนเกือบจะเป็นลมกระโชก (Gust) ก่อนถึงเวลาเต็มดวงประมาณครึ่งนาที ผู้เขียนก็ได้ถอดฟิลเตอร์กรองแสงออกจาหน้ากล้องทั้งหมดตามที่ได้ซ้อมไว้ แต่ความตื่นเต้นและเสียงผู้คนที่โห่ร้อง ทำให้สายตาจับจ้องอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ลืมสังเกตปรากฏการณ์ทางแสงที่สำคัญที่เกิดขึ้นบนพื้นในช่วงนั้น ได้แก่แถบเงา (Shadow Bands) ทั้งช่วงก่อนและหลังคราสเต็มดวง
ปรากฏการณ์แหวนเพชร คือสิ่งที่ผู้คนที่เคยชมสุริยุปราคาเต็มดวงจะจดจำได้นานแสนนาน ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะเมื่อเราสามารถมองดวงอาทิตย์ได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้ฟิลเตอร์ ในช่วง 1-2 วินาทีก่อนคราสเต็มดวง เรายังเห็นแสงจ้าจากผิวดวงอาทิตย์ส่วนสุดท้ายที่ยังไม่ถูกบดบัง สว่างเหมือนเพชรเม็ดงาม โดยมีวงกลมสีดำ ซึ่งก็คือด้านมืดของดวงจันทร์ เป็นเรือนแหวนของเพชรเม็ดนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวง ผู้คนโห่ร้องด้วยความตื่นเต้น ภาพวงสีดำของดวงจันทร์ที่บดบังดวงอาทิตย์ที่อยู่ตรงหน้า เผยให้เห็นโคโรนาซึ่งพุ่งออกมาเป็นสองแฉกจากขอบดวงอาทิตย์ตามแนวเส้นศูนย์สูตรอย่างชัดเจน มีเส้นสายภายในโคโรนาที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ฟิล์มไม่สามารถบันทึกได้ ที่ขอบของดวงจันทร์มีจุดสว่างสีแดงหลายแห่ง ซึ่งก็คือ Solar Prominences ที่พุ่งออกมาจากบางบริเวณที่มีความผันผวนของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ เห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนขณะที่เกิดคราสเต็มดวงเท่านั้น ผู้เขียนได้แต่ตะโกนร้องด้วยความตื่นเต้น (ฟังจากวิดีโอที่บันทึกไว้) ท้องฟ้าที่มืดในขณะนั้นไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว แต่ก็เพียงพอที่จะเห็นดาวสว่างได้หลายดวง โดยเฉพาะดาวศุกร์และดาวพุธ ซึ่งปรากฏอยู่ไม่ไกลจากดวงอาทิตย์มากนัก อีกปรากฏการณ์ทางแสงอีกอันหนึ่งที่เห็นได้เฉพาะขณะเกิดคราสเต็มดวงเท่านั้น ได้แก่แสงสนธยา 360 องศา เกิดที่ขอบฟ้าโดยรอบ เนื่องจากขณะนั้นเรายืนอยู่ในเงามืดของดวงจันทร์ซึ่งมีรูปร่างเป็นวงรีบนพื้นโลก นอกบริเวณเงามืดนั้นยังได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่บางส่วน จำได้ว่าความรู้สึกขณะนั้น ตื่นเต้นมากที่สุดแม้ว่าจะได้อ่านหนังสือต่างๆมามากมาย แต่ปรากฏการณ์นี้ทั้งเห็นได้ด้วยตาและรู้สึกได้ด้วยตัวจากลมที่เย็นยะเยือกพัดแรงมากจนฟิลเตอร์กระดาษที่เปิดออกจากหน้ากล้องวิดีโอ โดนพัดกลับมาบังหน้ากล้องโดยไม่รู้ตัว กล้องวิดีโอที่ขี่หลังกล้องโทรทรรศน์อยู่จึงบันทึกภาพได้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งในช่วงคราสเต็มดวง แม้ว่าจะบันทึกเสียงร้องของผู้คนได้ตลอดเหตุการณ์ก็ตาม
คราสเต็มดวงสิ้นสุดลงหลังจากผ่านคราสเต็มดวงไปในเวลา 1 นาที 52 วินาที ด้วยการเกิดปรากฏการณ์แหวนเพชรอีกครั้งหนึ่งทันทีหลังสัมผัสที่ 3 ผู้คนตะโกนร้องที่ได้เห็นเพชรเม็ดงามครั้งสุดท้าย ก่อนที่แสงสว่างของดวงอาทิตย์จะสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องใส่ฟิลเตอร์กรองแสงดู เหตุการณ์หลังจากนั้นเสมือนการฉายหนังย้อนกลับ และในช่วงคราสบางส่วนช่วงสุดท้าย ผู้เขียนยังทำการถ่ายภาพคราสบางส่วนต่อจนจบ ขณะที่ผู้คนเริ่มทะยอยกลับออกจากลานกุมภลักษณ์นี้ นำกลับไปแต่ความทรงจำที่ไม่มีวันลืม ทุกคนที่ได้เห็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในวันนั้นต่างรู้สึกประทับใจ
ภาพปรากฏการณ์เงาเสี้ยว
ภาพการฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์
ตารางแสดงรายละเอียดเหตุการณ์หลักของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่จุดสังเกตการณ์วัดเขาเหิบ (ละติจูด 14 องศา 51.12 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 101 องศา 40.75 ลิปดา ตะวันออก สูง 281 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คราสเต็มดวงนาน 1 นาที 52 วินาที
เหตุการณ์ |
เวลา |
มุมอัลติจูด (องศา) |
มุมอะซิมุธ (องศา) |
เริ่มต้นคราสบางส่วน |
09:22:37 |
43 |
122 |
เริ่มต้นคราสเต็มดวง |
10:51:43 |
59 |
147 |
สิ้นสุดคราสเต็มดวง |
10:53:35 |
59 |
148 |
สิ้นสุดคราสบางส่วน |
12:31:39 |
62 |
198 |
ปัจฉิมลิขิต
ทันทีที่กลับมาถึงกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนรีบเอาฟิล์มไปล้างและอัดขยายภาพต่าง ๆ ออกมา ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง จำได้ว่านอกจากการนำฟิล์มไปล้าง ผู้เขียนรีบศึกษารายละเอียดของการเกิดคราสเต็มดวงในอนาคต และเฝ้ารอที่จะได้เห็นปรากฏการณ์อันสุดมหัศจรรย์นี้อีก นับถึงปัจจุบัน สุริยุปราคาเต็มดวงได้พาผู้เขียนไปยังดินแดนห่างไกล ได้แก่ โรมาเนีย (2542) แซมเบีย (2544) อัฟริกาใต้ (2545) ตุรกี (2549) รัสเซีย (2551) จีน (2552) ออสเตรเลีย (2555) นอร์เวย์ (2558) อินโดนีเซีย (2559) สหรัฐอเมริกา (2560) และชิลี (2562) จนรู้สึกว่า การติดตามสุริยุปราคา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ผู้เขียนจะพยายามทำให้ได้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ รวมทั้งจะเฝ้ารอชมปรากฏการณ์นี้อีกครั้งในผืนแผ่นดินไทยที่จะเกิดที่ ต.หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 11 เมษายน 2613
update 21 พฤษภาคม 2563