ภูมิปัญญาและความเชื่อจากปรากฎการณ์บนท้องฟ้า

บุญพีร์ พันธ์วร Think Earth: Think Sky

 img166

 10 01

พฤษภาคม 2537  โครงการ THINK EARTH ร่วมกับ ดร. ระวี ภาวิไล แถลงข่าวเปิดโครงการ THINK EARTH THINK SKY
นำคณะมวลชนร่วมแกะรอยความเป็นมาดาราศาสตร์ไทย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ จังหวัดลพบุรี

          ตรึกดิน ตรองฟ้า : ตรึกฟ้า ตรองดิน ปรากฎการณ์สุริยุปราคาบนฟากฟ้าที่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มดวงในประเทศไทย  เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สรรพคราสครั้งนี่นเคลื่อนผ่าน 11 จังหวัด ตั้งแต่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถึงอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ทั่วไปถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าชื่นชม คนสมัยใหม่โดยเฉพาะในต่างประเทศแทบจะไม่มีความเชื่อถือในเรื่องโชคลางที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์นี้ แต่สำหรับชาวไทยเองแล้วดูเหมือนจะมีความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องโชคลางและจักรวาลอยู่มากเพราะจักรวาลดูจะเป็นเรื่องที่ลี้ลับและซับซ้อน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุร้ายก็จะตีความว่าเป็นอิทธพลที่เกิดจากดวงดาว ต้นกำเนิดความเชื่อ ในสมัยก่อนปรากฎการณ์บนท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็นดาวหาง ดาวตก ผีพุ่งใต้ สุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา เป็นปรากฎการณ์ที่มนุษย์ในขณะนั้นยังไม่มีความรู้และวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ดีพอที่จะสามารถอธิบายถึงปรากฎการณ์เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นนักคิด นักปราชญ์หรือผู้ปกครองตลอดจนผู้นำชุมชนพยายามค้นหาคำตอบ หรือสร้างนิยาย ตำนาน หรือจินตนาการ แล้วแต่ที่จะคิดขึ้นมา เพื่อจะอธิบายปรากฎการณ์นั้นในฐานะที่ตนเองเป็นผู้นำชุมชนที่ต้องรอบรู้ทั้งหมด ดังนั้นคำตอบในแต่ละพื้นที่ของแต่ละชนเผ่าหรือต่างศาสนา ย่อมมีความเชื่อที่มีความแตกต่างกันไป ถือเป็นภูมิปัญญาของคนในสมัยโบราณที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการพยายามคิดหาคำตอบซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีวิชาดาราศาสตร์ แต่ก็สามารถทำให้คนในขณะนั้นมีทางออกในเรื่องนี้ได้ ล้วนมีความเชื่อที่ต่างเผ่าพันธุ์ต่างความคิดแล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน ในประเทศไทย มีเอกสารหลายชิ้นที่ค้นคว้ากันอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “กำเนิดเทวะ” ของพระยาสัจจาภิรมณ์ หรือ โฉม ศรีเพ็ญ พบเรื่องตำนานเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์และตำนานเรื่องราหูอมพระอาทิตย์ อมพระจันทร์ โดยในตำนานได้กล่าวถึงการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาว่าด้วยความเชื่อของชาวอินเดีย ตอนที่เหล่าเทวดา และยักษ์ช่วยกันกวนมหาสมุทรทำพิธีเสกน้ำอมฤตสำหรับดื่มให้เป็นอมตะ พิธีกวนเริ่มด้วยเทวดานำเอาบรรดาสมุนไพรมาโยนลงในมหาสมุทร แล้วยกเอา “ภูเขามันทระ” เป็นไม้กวนโดยใช้วิธีว่าไปจับเอาพญานาคมาทำเป็นเชือกพันรอบเขาแล้วเทวดา และยักษ์ก็เข้าแถวเรียงกันเป็น 2 แถว ผลัดกันชักเย่อไปมา ภูเขาก็หมุนตัว บรรดายาสมุนไพรในมหาสมุทรก็เกิดการหมุนเวียน และถูกบดละเอียดเข้าทุกทีจนข้นเป็นปลัก แต่มี “น้ำใสวิเศษ” ขึ้นตรงกลาง มีเทวแทตย์ทูนถ้วยน้ำโผล่ขึ้นมา แสดงว่าการกวนน้ำอมฤตประสบผลสำเร็จแล้ว แต่เทวดาคิดไม่ซื่อ เลือกจับพญานาคส่วนหาง ให้หัวพญานาคอยู่ด้านยักษ์ เวลาพญานาคบิดตัวจะคลายพิษ ทำให้ยักษ์อ่อนแรง ส่งผลทำให้เทวดาเป็นฝ่ายชนะ พญานาคได้ดื่มน้ำอมฤตเป็นรางวัล แต่ก็มียักษ์ราหู ชื่อ “อสุรินทราหู” แอบปลอมตัวเข้าไปปะปนกับเทวดาเพื่อดื่มน้ำอมฤตด้วย แต่อสุรินทราหูเป็นแทตย์ที่มีหางเหมือนมังกร เพราะเป็นบุตรท้าวเวปจิตติ กับนางสังหิกา จัดอยู่ในพวกอสูร เมื่อปลอมตัวเข้าไป จึงถูกพระอาทิตย์กับพระจันทร์จับได้ พระอาทิตย์กับพระจันทร์จึงได้นำความไปฟ้องพระนารายณ์ พระองค์จึงใช้จักรที่เป็นอาวุธประจำตัวของพระองค์ตัดคอยักษ์ราหู ซึ่งปกติแล้วยักษ์เมื่อต้องอาวุธของพระนารายณ์ก็จะตาย แต่เนื่องจากยักษ์ราหูไปดื่นน้ำอมฤตทำให้เป็นอมตะไม่ตายทำให้ร่างกายขาดเป็นสองท่อนส่วนล่างก็เป็น ดาวหาง ดาวเกตุ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นราหูไป ด้วยความแค้นผูกพยาบาท ที่พระอาทิตย์และพระจันทร์นำความไปฟ้องพระนารายณ์ ยักษ์ราหูจึงคอยแก้แค้น หากเมื่อใดที่พบยักษ์ราหาก็จะจับมาหนีบรักแร้ให้ฉุนเล่น หรือไม่ก็อมแสงพระอาทิตย์กับแสงพระจันทร์ การอมมีอยู่สองอย่างคืออมแบบคลี่คือการอมแบบเต็มดวง และอมแบบคลายคือการอมแบบไม่เต็มดวง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกคนจะต้องช่วยพระอาทิตย์กับพระจันทร์ชาวบ้านจึงตีเกราะ เคาะไม้จุดประทัด ทำเสียงดังเพื่อไล่ยักษ์ราหูตนนี้ออกไป นี่คือความเชื่อของคนไทยมาแต่โบราณแต่สมัยนี้คงไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินหรือ ทราบเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ทราบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ต้องไปตีเกราะ เคาะไม้ จุดประทัดไล่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีนิยายอยู่ในหนังสือเฉลิมไตรภพ แต่งเป็นกาพย์เกี่ยวกับเรื่องสุริยุปราคาอีกเรื่องหนึ่งมีเนื้อความคร่าวๆ ว่า มีพี่น้องซึ่งเป็นลูกเศรษฐีชื่อ “หัสวิโสย” อยู่ 3 คน คนโตชื่ออาทิตย์ คนรองชื่อจันทร์ คนสุดท้องชื่อราหู ต่อมาเศรษฐีตายไป ทั้งสามจึงได้ทำบุญตักบาตร อาทิตย์ใช้ขันทอง จันทร์ใช้ขันเงินและอธิษฐานขอให้เกิดเป็นพระอาทิตย์มีผิวพรรณเรืองรองเป็นทองอำไพ จากอานิสงส์ที่ตักบาตรด้วยขันทองและพระจันทร์มีผิวพรรณผุดผ่องเป็นสีเงินยวง ฝ่ายน้องราหูโกรธมากที่พี่ๆ เอาภาชนะดีๆ ไปใช้และอธิษฐานขอแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้น เลยคว้ากระบวยมาเป็นภาชนะตักบาตร และอธิษฐานว่าให้เกิดเป็นราหู มีร่างกายใหญ่โตสามารถบดบังรัศมีของพี่ๆ ทั้งสองคืออาทิตย์และจันทร์ได้ เมื่อตายไปพี่น้องทั้งสามได้เป็นดังอธิษฐาน ราหูนั้นยังมีใจเจ็บแค้นอยู่ เมื่อเห็นพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นต้องทำให้เกิดคราส ในความเชื่อของชาวกระเหรี่ยงในอำเภอแม่แจ่มเรียกว่า “ตาชื่อมื่อ” มีความเชื่อว่าแผ่นดินกินพระอาทิตย์ เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยพระอาทิตย์ โดยการตีเกราะ ตีกลอง การเป่าเขาควายเขาโค เพื่อจะไล่ตรงนี้ออกไป

          ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าความเชื่อถือเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ของคนแต่ละเผ่าพันธุ์ จะแตกต่างกันไป บางเผ่าในทวีปอเมริกาใต้ที่รบราฆ่าฟันกันมาเป็นเวลานานก็เลิกรบกัน เพราะคิดว่าพระเจ้าพิโรธ ชนเผ่าเล็กๆ บางเผ่าจะมีพิธีบูชายันต์เมื่อเกิดปรากฎการณ์นี้ ส่วนในประเทศจีน มีคติความเชื่อเรื่องการเกิดสุริยุปราคาอยู่ในเรื่อง “ไคเภ็ค” อันเป็นพงศาวดารการสร้างโลกของจีนในพงศาวดารนั้นกล่าวว่า พระอาทิตย์ (เพศชาย) นั้นเป็นเทวดามีชื่อคัย แซ่ซึง ส่วนพระจันทร์ (เพศหญิง) เป็นเทพธิดาชื่อบี้ แซ่ถัง เป็นสามีภรรยาที่รักกันมากไม่ค่อยยอมจากกัน เมื่อไม่ยอมจากกันจึงทำให้ไม่ค่อยยอมทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่มนุษย์ แต่เกรงบารมีของคุณต่อเป็งชาน้าติอ่องสีฮ่องเต้ จึงต้องจำใจจากกันไปทำหน้าที่คนละเวลากัน เมื่อเวลาพระอาทิตย์โคจรเร็วพบกับพระจันทร์เข้าด้วยความรักก็ต้องมีการออดอ้อนกันตามประสาก็จะเกิดจันทรคราส แต่ถ้าพระจันทร์โคจรเร็วทันพระอาทิตย์ก็ทำให้เกิดสุริยคราส คนจีน จึงต้องจุดประทัด ตีม้า ตีฬ่อ ให้เกิดอาการตกใจจากกันไปทำหน้าที่ของตนหรืออีกความชื่อหนึ่งของจีนคือ การเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคานั้นอาจหมายถึงการที่มังกรกำลังกลืนกินดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็มี จึงต้องทำให้เกิดเสียงดังเพื่อให้มังกรคลายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมา สร้างเป็นวัตถุมงคล สำหรับตำนานทางโหราศาสตร์ “ราหู” นับเป็นดาวที่มีคุณทางให้กำลังเมื่อเกิดราหูอมจันทร์คือ เงาของโลกไปบดบังทับดวงจันทร์ดำมืดนั้นเองจะมีคุณทางให้กำลังเพิ่มอานุภาพภายใน ผลักดันให้เกิดความเพียรพยายาม ขัดแข็ง ในขณะเดียวกันก็บาปที่จะทำให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา เช่น ผู้ใดมีราหูกุมลัคนาจะเป็นคนขยันมาก หมายถึงเป็นคนเอาจริงเอาจัง ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระราหูมีเพียงครึ่งตัว เนื่องจากถูกจักรของพระนารายณ์ตัดขาดเพราะปลอมเป็นเทวดาไปแอบดื่มน้ำอมฤต ขณะนั้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ไปพบเห็นเข้าจึงได้ไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วเป็นเหตุให้ขว้างจักรไปต้องกายพระราหูขาดเป็นสองท่อน แต่ก็ไม่สามารถทำให้พระราหูตายได้ เนื่องจากความเป็นนิรันดร์ที่ได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไป ดังนั้นพระราหูจึงมีความแค้นเคืองพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก จึงคอยเฝ้าจับกินพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่เสมอ อันเป็นที่มาของราหูอมพระอาทิตย์หรือราหูอมจันทร์ “จันทรคราส / สุริยคราส” นั้นเอง

          กำเนิดกะลาตาเดียว การสร้างสรรค์งานศิลปะพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่นในทุกยุคทุกสมัยมักจะเกิดขึ้นจากความประทับใจ ความเชื่อในด้านต่างๆ และความต้องการเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นแรงดลใจ ไม่ว่า ณ แห่งหนตำบลใดในโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีการพัฒนารูปแบบของศิลปะนั้นๆ ให้สวยและงดงามขึ้นตามลำดับด้วยภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นตามสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีของแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกันกับศิลปะพื้นบ้าน “การแกะกะลาพระราหู” ศิลปินพื้นถิ่นผู้สร้างสรรค์งานก็ได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตรูปแบบและองค์ประกอบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของงานศิลปะพื้นบ้าน โดยมีการฝึกฝนขึ้นภายในหมู่บ้าน มีการพัฒนารูปแบบให้สวยงามทั้งทางด้านองค์ประกอบและลวดลาย สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคลหรือช่างที่ทำการแกะ แรกๆ ก็ไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน แต่มาสมัยหลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง อำเภอนครไชยศรี จังหวัด
นครปฐม ผู้มีความสนใจทางตำราคาถาอาคมต่างๆ และมีความสนใจเรื่องกะลาตาเดียวนี้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากโยมบิดา เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสครองวัดก็ได้วางรากฐานและรูปแบบ ตลอดจนลวดลายการแกะสลักกะลาพระราหูให้เป็นมาตรฐาน โดยมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ยุคนี้อาจถือได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปะการแกาะกะลาตาเดียวก็คงไม่ผิดนัก กะลาพระราหูกับความเชื่อพื้นบ้าน ตำนานการสร้าง “พระราหูอมจันทร์” นั้นมิได้เนื่องมาจากทางโหราศาสตร์ แต่เนื่องมาจากสิ่งเดียวเท่านั้นคือ “ความเป็นอมตะและเป็นนิรันดร์ของพระราหูที่ไม่รู้จักตาย” อันเป็นแนวทางความเชื่อของบรรพชนโบราณที่อาศัยโฉลกนี้เป็นตัวกำหนด เป็นสูตรพิธีสร้างสรรค์สิ่งซึ่งใช้คุ้มครองตนให้มีชีวิตเป็นอมตะ รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ อีกทั้งยังมีคุณวิเศษอื่นๆ อีกมากมาย อานุภาพแห่งพระราหูนี้มีกล่าวไว้ในหลายๆ ตำราหลากหลายความเชื่อ แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ทั้งพุทธ ฮินดู ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า อานุภาพแห่งพระราหูนั้นมีอิทธิพลต่อความเชื่อของจิตใจคนไทยมาเป็น
เวลาช้านาน อาจจะสรุปถึงอานุภาพแห่งพระราหูตามที่อาจาร์ยบุญส่ง สุขสำราญ ได้ประมวลมาคือ 1. ใช้ป้องกันอาวุธ หอก ดาบ หน้าไม้ ปืน ตลอดจนภัยพิบัติต่างๆ 2. เพื่อให้เกิดลาภผลและแก้วแหวนเงินทอง 3. ป้องกันคุณไสยกระทำย่ำยี เสน่ห์ เสนียดจันไร ผีปอบ ผีป่า 4. เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความเมตตา ปราณี รักใคร่ เป็นเมตตามหานิยม 5. เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าเรื่องการงาน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าถ้านำกะลาพระราหูมาแช่น้ำ จะทำให้น้ำนั้นศักดิ์สิทธิ์เหมือนน้ำมนต์ใช้ประพรมกันโจร กันอัคคีภัย หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้หญิงคลอดลูกง่าย ทั้งยังให้ฤทธิ์กำบังตนพ้นจากการไล่ล่าได้อีกด้วย ทั้งนี้ตามตำราใบลานต้นฉบับการแกะกะลาพระราหูระบุว่า ผู้ที่แกะนั้นจะต้องเลือกใช้แต่กะลาตาเดียวเท่านั้น เนื่องจากมีความพิเศษแปลกพิสดารกว่ากะลาธรรมดา อีกทั้งหาได้ยากและตามคติความเชื่อโบราณก็ถือว่า กะลาตาเดียวเป็นของที่ดีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เช่นเดียวกับของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วมีความผิดแปลกออกไป นอกจากนี้ คติไทยโบราณท่านยังนิยมใช้กะลาตาเดียวทำประโยชน์ต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น ในวิชาการแพทย์โบราณระบุไว้ว่า กะลาตาเดียวใช้สำหรับตัดต้อที่ตาผู้ป่วยให้หายได้ หรือใช้สำหรับตักข้าวสารใส่หม้อโบราณ โดยเชื่อว่าจะให้ผลทางความเจริญงอกงามทั้งทางด้านฐานะและความเป็นอยู่ หรือใช้สำหรับกันและแก้เสนียดจัญไร ผีสางต่างๆ ฯลฯ กะลาตาเดียวในความเชื่อที่บูชาและเชื่อมั่นศรัทธาในพระราหูนั้น จะทำพิธีลงคาถาอาคมในขณะที่เกิดสุริยคราสและจันทรคราส เรียกว่า “โมกขบริสุทธิ์” เชื่อว่าจะทำให้ความวิเศษของกะลาตาเดียวมีคุณค่ามากขึ้น โดยลงยันต์ “สุริยประภา” หรือ “สุริยบัพพา” ขณะที่เกิดสุริยคราสและลงยันต์ “จันทรประภา” หรือ “จันทรบัพพา” ตอนเกิดจันทรคราสทั้งสองคาถานี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดของยันต์ทั้งปวง คาถา “สุริยบัพพา” และ “จันทรบัพพา” นี้ ความเชื่อของคนโบราณจะภาวนาขณะที่จะเดินทางออกจากบ้านเพื่อจะได้ให้ “พระราหู” คุ้มครองป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ตนขณะเดินทาง อย่างไรก็ตามความเชื่อของคนโบราณในอดีต และพัฒนามาจนกระทั่งปัจจุบันเปรียบเสมือนภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศิลปะของชาวบ้านที่พยายามจะหาคำตอบ แสวงหาทางเลือกต่างๆ ในการแก้เคล็ดในการปกป้องคุ้มครองให้ตนปลอดภัยจากภยันตราย

          ทั้งหลายทั้งปวง อาจจะมีคำถามหลายๆ คำถามที่ว่าสิ่งเหล่านี้งมงายหรือไม่ทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมันเองอยู่แล้วแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้เลื่อมในศรัทธาสิ่งเหล่านั้นมีคุณงามความดีมากน้อยเพียงไรเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางมิชอบหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นคำตอบได้ดีที่สุดก็คือทุกสิ่งอยู่ที่ใจ ถ้าจิตใจของเราบริสุทธิ์ยึดมั่นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้วเราไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น

 update 28 กันยายน 2563